หลักเกณฑ์การตัดสินค้าชำรุดเสียหายต้องทำอย่างไรเพื่อให้สรรพากรยอมรับ

 

หลักเกณฑ์การตัดสินค้าชำรุดเสียหายต้องทำอย่างไรเพื่อให้สรรพากรยอมรับ

ในกรณีที่สินค้าชำรุดเสียหาย ไม่สามารถนำไปขายได้ และกิจการมีความต้องการจะตัดสินค้าออกจากสต็อกเพื่อนำไปทำลาย จะต้องปฏิบัติดังนี้

  1.  บริษัทจะต้องใช้ราคาสินค้าคงเหลือคำนวณราคาทุน โดยใช้ราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และจะใช้ราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมา สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีถัดไป เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ(6) แห่งประมวลรัษฎากร
  2.  ในกรณีที่บริษัทมีความประสงค์จะตัดสินค้าคงเหลือ ตาม ข้อ 1 ออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือ ดำเนินการ

          2.1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ให้ถือปฏิบัติตามวิธีเกี่ยวกับการทำลายของเสีย สินค้า และเศษซากที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนด และเชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย หรือจัดทำรายงานการทำลายให้ผู้สอบบัญชีรับทราบ ทั้งนี้ให้ผู้สอบบัญชีรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแนบงบแสดงฐานะการเงินไว้ด้วย

           2.2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก การควบคุมปริมารวัตถุดิบนำเข้าซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนั้น ในการทำลายวัตถุดิบ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด และให้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลายหรือจัดทำรายงานการทำลายให้ผู้สอบบัญชีรับทราบ ทั้งนี้ผู้สอบบัญชีรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแนบงบแสดงฐานะการเงินไว้ด้วย

           2.3. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป ปฏิบัติดังนี้

              2.3.1. กำหนดแนวปฏิบัติกรณีสินค้าชำรุดเสียหาย ล้าสมัย หรือหมดอายุ

                 2.3.1.1. ให้ทำรายงานสินค้าชำรุดเสียหาย ล้าสมัยหรือหมดอายุ

                 2.3.1.2. นำรายงานเสนอขออนุมัติจากผู้มีอำนาจ เพื่อพิจารณาอนุมัติในรายงาน

                 2.3.1.3. นำรายการสินค้าล้าตาม 2.3.1.2 ไปตัดออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบและเปิดบัญชีใหม่เป็น สินค้าชำรุดเสียหาย ล้าสมัยและหมดอายุ

             2.3.2. ตรวจสอบสภาพเสียหายตามเงื่อนไขแต่ละกิจการได้กำหนดไว้ตาม 2.3.1

             2.3.3. ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจพิจารณาให้ตัดเป็นสินค้าเสียหาย

             2.3.4. กรณีมีการรับคืนต้องแนบเอกสารประกอบการรับคืนสินค้า

             2.3.5. ทำรายงานสรุปเป็นสินค้ารอการทำลาย

             2.3.6. เมื่อได้รับอนุมัติทำลายและจะทำการทำลายให้เชิญหน่วยงาน เช่น ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี หรือฝ่ายตรวจสอบภายใน(ถ้ามี) รวมทั้งเชิญผู้สอบบัญชีเข้าร่วมเป็นพยานการทำลาย  และเพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี

             2.3.7. เพื่อไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งการทำลายจากกรมสรรพากร เมื่อปฏิบัติตามข้อ 2.3.1 – 2.3.5.ก่อนการทำลาย บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จะต้องแจ้งการทำลายให้สรรพากรพื้นที่ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตั้งอยู่ ทราบล่วงหน้าก่อนวันทำลาย 30 วัน ซึ่งสรรพากรอาจส่งเจ้าหน้าเข้ามาร่วมดูการทำลายก็ได้

 

 

 

 

 

บทความทางบัญชี